รวม 10 ทักษะจำเป็นต่อการทำงาน สำหรับผู้ที่ต้องการเติบโตในสายงานยุค Double Disruption Cr. thegrowthmaster.com/
เมื่อโลกกำลังจะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “Double Disruption” หรือยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประจำวันมากขึ้นแบบคูณสอง อันเนื่องมาจากทั้งเรื่อง Covid-19 และการใช้ Automation Technology ในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การจ้างมนุษย์เข้ามาทำงานในองค์กรมีความจำเป็นน้อยลง
ซึ่งทางเดียวที่จะทำให้คณเป็นผู้ชนะ และเอาตัวรอดจากภาวะ Double Disruption ได้นั้นก็คือคุณต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่จะพัฒนาให้ตัวคุณมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น (Human Potential) จนเป็นที่ต้องการขององค์กรในอนาคต
ในบทความนี้เราจะพาคุณมาศึกษา TOP 10 ทักษะแห่งการเติบโต ที่คนทำงานจำเป็นต้องมี เพื่ออยู่รอดในยุค Double Disruption อย่างมีประสิทธิภาพ ที่อ้างอิงจากรายงาน World Economic Forum ในปี 2020 แต่จะมีทักษะอะไรบ้างที่จำเป็นต่อการพัฒนาตัวเองของคุณนั้น ไปติดตามกันต่อได้เลยครับ
เตรียมความพร้อมสู่การเป็น “แรงงานที่ตลาดสมัยใหม่ต้องการ” ในยุค Double Disruption ต้องทำอย่างไร ?
สิ่งสำคัญในการที่จะทำให้คุณเป็นแรงงานที่ตลาดสมัยใหม่ต้องการก็คือ “ความรู้” และความเข้าใจในสายงานที่คุณทำ ไม่ว่าจะเป็นสกิลหลัก (Hard Skills) ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรงหรือสกิลรอง (Soft Skills) ที่จะเข้ามาช่วยให้คุณพัฒนาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นเหมือนตัวช่วยที่ทำให้คุณเติบโตในสายงานได้เร็วกว่า
เพราะการที่คุณมีความรู้ ความสามารถในสายงานที่มากกว่าผู้อื่น ยิ่งในยุคสมัยที่งานหายาก มีการแข่งขันกันสูงตลอดเวลา ความรู้, ความสามารถในสายงานนี่แหละจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณโดดเด่นกว่าคู่แข่ง และจะทำให้คุณเป็นที่ต้องการจากตลาดแรงงาน
โดยในปัจจุบันคุณสามารถศึกษาทักษะความรู้ด้านการตลาด ได้ง่าย ๆ ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์จากสถาบันชั้นนำในไทยอย่าง FutureSkill ที่มีหลักสูตรคอร์สเรียนออนไลน์ด้านการตลาด ธุรกิจ เทคโนโลยี และ Skills อื่น ๆ ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของตลาดแรงงานสมัยใหม่
4 กลุ่มทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในยุค Double Disruption มีอะไรบ้าง ?
ก่อนจะไปลงรายละเอียดถึง 10 ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน ผมขออนุญาติแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มทักษะสำคัญใหญ่ ๆ ก่อน เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้อ่านทุกท่านนะครับ
โดย 4 กลุ่มทักษะนี้ถือว่าเป็นกลุ่มทักษะที่มีความสำคัญต่อการเติบโตและการพัฒนาตัวเองของคนทำงานทั้งหมด (ชนิดที่ว่าขาดอันใดอันหนึ่งไปไม่ได้) ดังนี้ครับ
กลุ่มทักษะที่ 1 : ทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยี (Technology Use and Development)
ไม่ว่าธุรกิจอะไร องค์กรมีขนาดเท่าไร ในปีนี้ก็คงต้องถึงเวลาที่องค์กรจะต้องปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น
เปรียบเทียบให้ดูสถิติในปี 2020 และการคาดการณ์ในปี 2025 เกี่ยวกับเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในที่ทำงาน พบว่าในปี 2025 อัตราการใช้เทคโนโลยีมาทำงานแทนมนุษย์จะสูงขึ้นถึง 47%
ภาพจาก worldeconomicforums
ดังนั้นทักษะการใช้ Automation Technology หรือซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของคนทำงานในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Automation Tools , AI Technology , Data Analysis , Product Development และอื่น ๆ
นอกจากนี้ทักษะด้านการออกแบบเชิงเทคโนโลยีและงานเกี่ยวกับการเขียน (หรือสร้าง) ซอฟต์แวร์ก็จะยิ่งมีความต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
กลุ่มทักษะที่ 2 : ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Work with People Skills)
ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน
การทำงานกับผู้อื่นในที่นี้ นอกจากจะเป็นเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับสภาพองค์กรและสังคมที่แตกต่างกันไปแล้วนั้น ยังรวมถึงเรื่องของภาวะผู้นำ (Leadership Skills) ที่มีประสิทธิภาพต่อการเติบโตขององค์กรด้วย
โดยเฉพาะที่โลกกำลังเผชิญภาวะ Double Disruption ทุกองค์กรจะต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และอุดมการณ์ในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า ตามโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอด
คนที่อยากจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำยุคใหม่ จึงต้องมีความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในทีม สร้างระบบการทำงานที่ทุกคนในทีมสามารถมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน ลดการทำงานรูปแบบ Silo เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจและทำให้องค์กรแข็งแกร่ง
[เราอยากแนะนำให้คุณลองศึกษาเรื่อง Growth Team ซึ่งเป็นการจัดการทีมเพื่อการเติบโต โดย Growth Team คือทีมในการทำงานที่ทุกคนในทีมจะมองเป้าหมายเดียวกัน โดยจะมีตำแหน่งเช่น Growth Leader , Data Analyst , Developer , Designer และอื่น ๆ ซึ่งทุกคนจะทำงานและทดลองอะไรใหม่ ๆ ร่วมกัน เพื่อเป้าหมายในการเติบโตขององค์กร]
กลุ่มทักษะที่ 3 : ทักษะในการบริหารจัดการตัวเอง (Self-Management)
อย่างที่บอกไปว่าถ้าอนาคต โลกนี้เข้าสู่ภาวะ Double Disruption ฝั่งขององค์กรก็จะเริ่มมีการจ้างมนุษย์เข้ามาทำงานน้อยลง และจะเหลือเก็บไว้เพียงแค่บุคลากรที่มีความสามารถ ที่ช่วยให้องค์กรเติบโตได้จริง ๆ
ซึ่งการจะเป็น “คน” ที่องค์กรจะเลือกเก็บไว้นั้น อันดับแรกคุณจะต้องมีทักษะ Self Management ที่ต้องครอบคลุมทั้งในเรื่องการศึกษาและพัฒนาตัวเองให้มีความรู้รอบด้าน แบบ X-Shaped Skills ตลอดจนความสามารถในการปรับตัวตลอดเวลา ตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป (ถือเป็นทักษะสำคัญของศาสตร์ Growth Hacking อีกด้วย)
กลุ่มทักษะที่ 4 : ทักษะในการแก้ไขปัญหา (Problem Solving)
ทักษะการแก้ปัญหา แม้ว่าอาจจะฟังดูไม่สำคัญ แต่ทาง World Economic Forum ได้ยกเรื่องนี้ให้เป็นกลุ่มทักษะที่มีความจำเป็นที่สุดในยุค Double Disruption (จาก 10 ทักษะที่จะกล่าวต่อไป มาจากกลุ่มทักษะนี้ถึง 5 ทักษะ) ที่จะทำให้คุณโดดเด่นกว่าใคร
ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน
สาเหตุเพราะในอนาคตการทำงานยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน นั่นส่งผลให้การทำงานจะเริ่มมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นไม่แปลกที่อนาคตองค์กรส่วนใหญ่จะเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับบุคลากรที่มีกระบวนการคิด และการตัดสินใจในการแก้ปัญหาได้อย่างดีเยี่ยม รวดเร็ว ถึงแม้จะเจอปัญหาใหม่ ก็จะใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาให้น้อยที่สุด
รวมไปถึงทักษะในการจัดการกับสภาวะความกดดันได้ดี ทักษะเหล่านี้จึงเป็นทักษะที่คนทำงานยุคใหม่ควรเริ่มมีติดตัวตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป
10 ทักษะจำเป็นต่อการทำงาน ที่คุณต้องเริ่มศึกษาตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนจะเริ่มเข้าสู่ยุค Double Disruption มีอะไรบ้าง ?
หลังจากที่เราได้รับรู้ถึง 4 กลุ่มทักษะสำคัญ ที่คุณจำเป็นต้องมีในยุค Double Disruption กันไปแล้ว คราวนี้เราลองมาดูถึง 10 ทักษะที่จะทำให้คุณเติบโตขึ้นในอนาคตนี้กัน โดยทาง World Economic Forum ได้ทำการเลือกเป็นอันดับตั้งแต่ 1 - 10 ไว้ด้วย แต่จะมีทักษะอะไรบ้างลองมาเช็คกันครับ
อันดับ 1 : Analytical thinking and innovation
จากกลุ่มทักษะที่ 4 : ทักษะในการแก้ไขปัญหา (Problem Solving)
Analytical thinking and innovation หรือทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะด้านนวัตกรรม กลายเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของทักษะในการเติบโตของยุค Double Disruption เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าองค์กรยุคใหม่ (หรือในอนาคต) ย่อมต้องการบุคลากรที่มีสมองเป็นเลิศ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่เทคโนโลยีต่าง ๆ ยังทำไม่ได้
รวมกับความสามารถในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หรือนวัตกรรม จากทักษะและกระบวนการคิดแบบต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจ สามารถสร้างคุณค่า (Value) ให้กับผู้คน สังคม โลก ออกมาเป็นรูปธรรม และสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ให้กับองค์กรได้
อันดับ 2 : Active Learning and Learning Strategies
จากกลุ่มทักษะที่ 3 : ทักษะในการบริหารจัดการตัวเอง (Self-Management)
Active Learning and Learning Strategies หรือทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และเรียนรู้อย่างมีกลยุทธ์ นอกจากจะเป็นทักษะที่องค์กรในอนาคตส่วนใหญ่ต้องการแล้ว ทักษะนี้ยังมีความคล้ายคลึงกับศาสตร์ Growth Hacking ที่จะเรียนรู้ผ่านการทดลอง ลองผิดลองถูก และลงมือทำจริง
เพราะคุณจะได้เห็นอะไรหลายอย่างมากกว่าคำสอนในตำรา ผ่านการลงมือทำจริงและค่อย ๆ เรียนรู้จากความผิดพลาดเล็ก ๆ ทดลองหาสิ่งใหม่จากสมมติฐานเพื่อนำมาปรับใช้กับการทำงานของคุณอยู่เสมอ จะทำให้คุณเติบโตและมีความรู้มากกว่าการเรียนรู้ผ่านรูปแบบอื่น ๆ
อันดับ 3 : Complex Problem-solving
จากกลุ่มทักษะที่ 4 : ทักษะในการแก้ไขปัญหา (Problem Solving)
Complex Problem-solving หรือทักษะการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน เชื่อว่าถ้าใครที่มีทักษะนี้ติดตัว ไม่ต้องรอถึงปี 2025 คุณก็น่าจะเป็นที่ต้องการของหลายองค์กรเลยครับ เพราะอย่างที่บอกไปเมื่อหัวข้อที่แล้วว่า ในยุค Double Disruption เทคโนโลยีจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานมากขึ้น นั่นส่งผลให้การทำงานในแต่ละโปรเจกต์จะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเป็นเท่าตัว
ฉะนั้นองค์กรย่อมมองหาบุคลากรที่มีทักษะในเรื่องการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ดีก่อนเสมอ ซึ่งคุณจะต้องมีกระบวนการคิด และการตัดสินใจในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดีเยี่ยม รวดเร็ว ถึงแม้จะเจอปัญหาใหม่ที่ซับซ้อนเพียงใด ก็จะใช้เวลาน้อยที่สุดในการแก้ไขปัญหานั้นนั่นเอง
อันดับ 4 : Critical Thinking and Analysis
จากกลุ่มทักษะที่ 4 : ทักษะในการแก้ไขปัญหา (Problem Solving)
Critical Thinking and Analysis หรือทักษะการคิดอย่างมีหลักการณ์ หรืออธิบายอย่างง่ายก็คือการคิดและวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและมีเหตุผลที่สุด
คนที่มีทักษะในการคิดแบบ Critical Thinking จะเป็นคนที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อสรุปผลลัพธ์จากสิ่งที่รู้ และเข้าใจวิธีใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหา ยึดหลักทุกอย่างจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง ข้อมูล และสถิติ (จะใช้การมโนขึ้นมาเองให้น้อยที่สุด) เชื่อมโยงตรรกะและไอเดียต่าง ๆ ได้อย่างมีเหตุผล
และนอกจากนั้น การที่คุณมีทักษะ Critical Thinking กับตัวเองจะช่วยให้คุณสามารถแก้ปัญหาอย่างมีระบบมากขึ้น เลยทำให้ตอนนี้ทักษะนี้เริ่มเป็นที่มองหาจากหลายองค์กรชั้นนำ
อันดับ 5 : Creativity, Originally and Initiative
จากกลุ่มทักษะที่ 4 : ทักษะในการแก้ไขปัญหา (Problem Solving)
Creativity, Originally and Initiative หรือทักษะการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการริเริ่มสิ่งใหม่ สำหรับทักษะนี้ เชื่อว่าไม่ต้องไปมองไกลถึงปี 2025 หรอกครับ ปัจจุบันนี้ทักษะนี้ก็เริ่มเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะเมื่อมีธุรกิจเกิดใหม่มากมาย ย่อมมีความทับซ้อนกันทั้งในด้านของผลิตภัณฑ์และบริการ แต่การแก้ปัญหาที่จะพาองค์กรของคุณให้คุณโดดเด่นเหนือคู่แข่ง ก็คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างสิ่งใหม่ที่แตกต่างขึ้นมา ซึ่งการมีทักษะ Creative ที่ดีนั้นต้องมุ่งเน้นไปที่การทำน้อยแต่ได้มากและเห็นผลเร็วที่สุด
ถึงตรงนี้ก็คงไม่แปลกใจแล้วใช่ไหมครับ ว่าทำไมในปัจจุบัน (และแนวโน้มในอนาคต) สายงานจำพวก Creative หรือคนที่มีทักษะด้าน Creative Thinking กำลังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในตลาดแรงงาน
อันดับ 6 : Leadership and Social Influence
จากกลุ่มทักษะที่ 2 : ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Work with People Skills)
Leadership and Social Influence หรือทักษะการเป็นผู้นำและอิทธิพลต่อสังคม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลาอีก 5 ปีหลังจากนี้ ทุกคนที่อ่านบทความนี้อยู่คงต้องมีความก้าวหน้าในสายงาน บางคนอาจเริ่มมีธุรกิจเป็นของตัวเอง บางคนอาจได้เริ่มก้าวมาเป็นระดับหัวหน้า ทำให้ทักษะนี้ต้องถูกพูดถึงขึ้นมา
เพราะในอนาคตทุกองค์กรล้วนต้องการผู้นำที่มีอุดมการณ์และวิสัยทัศน์ที่จะพาองค์กรเติบโต การจะก้าวมาเป็น “Leader” หรือผู้นำที่มีประสิทธิภาพได้นั้นต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนในทีม สร้างองค์กรที่ทุกคนในทีมสามารถมีส่วนร่วม มองเห็นเป้าหมายร่วมกัน ผลักดันให้ทุกคนในทีมมี Growth Mindset
และนอกจากเรื่องของการทำงานแล้ว การเป็นผู้นำที่ดีในอนาคตควรต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Empathy Skills หรือ ความสามารถในการทำความเข้าใจผู้อื่นด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทั้งในด้านความคิดและความรู้สึก โดยไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจ ซึ่งจะทำให้ผู้นำเห็นในมุมมองอื่น ๆ ของทุกคนในทีม จนสามารถสร้างทีมที่แข็งแกร่งได้
อันดับ 7 : Technology use, Monitoring and Control
จากกลุ่มทักษะที่ 1 : ทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยี (Technology Use and Development)
Technology use, Monitoring and Control หรือทักษะการเลือกใช้ ดูแล และควบคุมอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี แม้ว่าในยุค Double Disruption เทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าและเข้ามามีบทบาทต่อการทำงานเพียงใด แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าการควบคุมเทคโนโลยีเหล่านั้น ล้วนต้องใช้สมองและฝีมือของ “มนุษย์”
โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีจำพวก Machine Technology (เทคโนโลยีเครื่องจักร) , Robot Technology (เทคโนโลยีหุ่นยนต์) ยิ่งต้องอาศัยบุคลากรที่มีความสามารถในการควบคุมอุปกรณ์เหล่านั้นเป็นอย่างมาก
รวมไปถึงบุคลากรที่มีความเข้าใจเทคโนโลยีเกี่ยวกับซอฟต์แวร์เช่นระบบ AI , Big Data, Automation Tools ที่ถือเป็นหัวใจของการทำงานในยุค Double Disruption ก็จะยิ่งได้เปรียบและทำให้คุณเติบโตในยุคนั้นได้ดีกว่าใคร
อันดับ 8 : Technology Design and Programming
จากกลุ่มทักษะที่ 1 : ทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยี (Technology Use and Development)
Technology Design and Programming หรือทักษะการออกแบบและโปรแกรมชุดคำสั่งสำหรับเทคโนโลยี เช่นเดียวกันกับข้อที่แล้วครับ เมื่อเทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานได้หากไม่มีคำสั่งของมนุษย์ มันก็ไม่สามารถถูก “สร้างขึ้น” ได้ถ้าไม่ใช้ฝีมือมนุษย์เช่นกัน
ทักษะนี้จึงเกี่ยวข้องกับทักษะในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีเหล่านั้นขึ้นมา เพื่อเป็นเหมือนเครื่องทุ่นแรงในการทำงานเพื่อร่นระยะเวลาของงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ลดแรงงานคนและทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นเหมือนหน้าตาขององค์กรในอนาคต
ซึ่งถ้าอ้างอิงจากเทรนด์ในปีที่ผ่านมาและการคาดการณ์เทรนด์ในอนาคตเชื่อเหลือเกินว่าในอนาคตยุค Double Disruption เทรนด์สำคัญของเรื่องการดีไซน์โปรแกรม ก็คือการออกแบบโปรแกรมให้ใช้งานง่าย และมีความ User Friendly มากที่สุด
แม้ทักษะนี้จะดูมีความเฉพาะทางไปทางแนวโปรแกรมเมอร์หรือแนววิทยาศาสตร์ แต่ทุกสายอาชีพก็ควรมีความรู้ในระดับ “เบื้องต้น” ติดตัวไว้บ้างครับ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าในอนาคตอันใกล้เราทุกคนจะต้องทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเหล่านี้เหมือนเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง
นี่คงเป็นเหตุผลว่าทำไมสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและโปรแกรมมิ่ง ถึงเป็นที่ต้องการตลอดเวลาและได้ค่าตอบแทนที่สูง เมื่อเทียบกับตำแหน่งงานอื่น ๆ ในองค์กร
อันดับ 9 : Resilience, Stress tolerance and Flexibility
จากกลุ่มทักษะที่ 3 : ทักษะในการบริหารจัดการตัวเอง (Self-Management)
Resilience, Stress tolerance and Flexibility หรือทักษะการเปิดรับต่อความเปลี่ยนแปลง การควบคุมอารมณ์ และการฟื้นฟูในภาวะวิกฤต ถือว่าเป็นทักษะม้ามืดในเรื่องของการจัดการตัวเองที่ติดอันดับเข้ามาในครั้งนี้ด้วย
โดยทักษะนี้หัวใจหลักจะเป็นเรื่องของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงให้เร็วที่สุด เพราะในอนาคตเราไม่มีทางคาดการณ์ได้เลยว่าจะเกิดสถานการณ์ที่เข้ามากระทบต่อการทำธุรกิจของเราอย่างไรบ้าง (เช่นโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว) เพราะฉะนั้นองค์กรต่าง ๆ จึงล้วนต้องการผู้ที่สามารถเรียนรู้และปรับตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์นั้น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
และนอกจากนั้นยังต้องมีทักษะที่เรียกว่า Stress Tolerance หรือความสามารถในการทำงานภายใต้แผนงาน ทรัพยากรและระยะเวลาที่จำกัดให้สำเร็จ รวมทั้งการควบคุมสภาวะทางอารมณ์เมื่อต้องเผชิญกับภาวะความเครียดจากการทำงานได้อย่างเหมาะสม โดยไม่กระทบกับการทำงานและคนในทีม
อันดับ 10 : Reasoning, Problem-solving and Ideation
จากกลุ่มทักษะที่ 4 : ทักษะในการแก้ไขปัญหา (Problem Solving)
Reasoning, Problem-solving and Ideation หรือทักษะในการให้น้ำหนักเหตุผล และการระดมความคิดเป็นเหมือนทักษะที่ผู้นำองค์กรส่วนใหญ่ต้องมีติดตัว ในกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเพราะเมื่อทันใดที่เกิดปัญหาขึ้นผู้ที่มีทักษะนี้จะสามารถพาองค์กรให้อยู่รอดได้ ด้วยการแก้ปัญหาโดยใช้หลักของการให้เหตุผลและการระดมความคิด
เริ่มจากการทำความเข้าใจสถานการณ์ โดยอาศัยข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการรวบรวม จัดระเบียบ หาความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากนั้นจึงเริ่มประชุม หรือจัด Session กับทีม เพื่อระดมความคิดช่วยกันหาทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด โดยใช้เหตุผลและข้อมูล เป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหา
ทักษะนี้นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ด้วยหลักของการใช้เหตุผลและข้อมูลแล้วยังเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรให้เติบโตได้มากขึ้น เพราะทุกคนในทีมจะมีสิทธิ์ช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง ซึ่งสร้างโอกาสในการแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า “ไอเดีย”ที่มาจากคนคนเดียวนั่นเอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น