ปรับวิธีสู่แนวความคิดแบบยืดหยุ่น (Resilience Thinking)



Cr. https://www.sertiscorp.com/
บทความโดย : คุณจรัล งามวิโรจน์เจริญ (Chief of Data Scienctist & VP of Data Innovation Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด)
 Informant : นางสาวถิรนันท์ ปลอบโยน นักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการ


         สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นนี้ เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายของประชากรทั่วโลก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกรูปแบบ ถึงแม้เราจะพยายามใช้ข้อมูลที่มีอยู่จากอดีตและปัจจุบัน มาสร้างโมเดลเพื่อพยากรณ์อนาคต ก็อาจจะไม่สามารถทำนายอนาคตอันใกล้นี้ได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์มาก่อน ทำให้ผมคิดว่า เราคงมาถึงจุดเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ของทั้งองค์กร สังคม และกลุ่มธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรองรับภาวะแปรปรวน (Disturbance) ที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

         เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้อ่านเจอเรื่อง Resilience Thinking หรือแนวคิดแบบยืดหยุ่น จากหนังสือ Team of Teams โดย McChrystal ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการการรบในอิรักและอัฟกานิสถาน ในหนังสือได้พูดถึงเกี่ยวกับแนวคิด 2 รูปแบบ คือ 1) แนวคิดองค์กรที่เน้นประสิทธิภาพ (Efficiency) ที่เน้นการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพโดยการพยากรณ์และคาดการจากข้อมูล และ 2) แนวคิดองค์กรที่เน้นการปรับตัวยืดหยุ่น (Adaptability and Resilience) ที่เน้นใช้ทุกสิ่งที่หามาได้ในการรับมือต่อสู้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งนายพล McChrystal ยอมรับว่า แนวคิดที่เน้นแต่ประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นแนวคิดหลักเดิมที่ใช้อยู่ในหน่วยงานทหาร อาจทำให้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่ทัน แต่แนวคิดที่เน้นการปรับตัวยืดหยุ่น เป็นสิ่งที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพกว่ากับสถานการณ์ที่ต้องสู้รบในอิรักและอัฟกานิสถาน ที่ไม่รู้ว่าศัตรูอยู่ไหน และไม่สามารถคาดเดาภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้

        พอยิ่งค้นคว้ามากขึ้น ผมก็พบว่าวิธีคิดแบบ Resilience Thinking หรือแนวคิดแบบยืดหยุ่นนี้ ยังอยู่บนพื้นฐานของวิธีคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) ซึ่งมีผลมาจากการเชื่อมองค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบที่มีความสามารถในการปรับเปลี่ยน มีความยืดหยุ่นที่จะรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด และถ้าเจอภาวะแปรปรวนก็ยังสามารถทำงานหลัก ๆ ของระบบต่อไปได้

แนวคิดนี้มีที่มาจาก ความยั่งยืนของระบบนิเวศวิทยาสังคม (Social-ecological) ในการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น ช่วงต้นยุคปี 1980 เมื่อประเทศออสเตรเลียฝั่งตะวันออกเฉียงใต้เจอกับภัยแล้งครั้งร้ายแรงที่สุด เกษตรกรล้มละลายกันเป็นแถว ถึงแม้ส่วนใหญ่จะดูแลกิจการโดยใช้วิธีการจัดการไร่อย่างดีที่สุด (Best Practices) แต่ก็ยังไม่สามารถต้านภัยแล้งได้ ต่อมาเกษตรกรกลุ่มหนึ่งได้ทดลองเปลี่ยนวิธีจัดการไร่แบบเดิม ๆ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเน้นให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการเล็มหญ้า ลดการไถดิน ลดการใช้สารเคมี และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูพรรณพืชในป่าและคืนความชุ่มชื่นเพื่อเพิ่มความทนทานจากผลกระทบของภัยแล้งได้  หลังจากนั้นในอีก 20 ปี ต่อมาก็เกิดภัยแล้งขึ้นอีก เกษตรกรที่มีการปรับตัวกลุ่มนี้ ก็ไม่ประสบกับผลกระทบจากภัยแล้ง

        เรามาดู 7 หลักการสำคัญของแนวคิดแบบยืดหยุ่น ที่ทาง Stockholm Resilience Centre ของมหาวิทยาลัย Stockholm แนะนำไว้ ดังนี้

1. Maintain Diversity and Redundancy การคงความหลากหลายและการสำรององค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบ เพื่อช่วยสร้างทางเลือกที่จะตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด

2. Manage Connectivity การจัดการการเชื่อมต่อของเครือข่ายที่เหมาะสม ทำให้เกิดการแบ่งระบบงานที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนออกเป็นส่วนย่อย ๆ (Modularity) ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจแต่ละส่วนได้ง่ายและไม่เกิดผลกระทบในวงกว้าง

3. Manage Slow Variables and Feedback การจัดการตัวแปรที่แสดงผลช้าและการป้อนกลับ ยกตัวอย่าง คุณภาพของน้ำขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของธาตุฟอสฟอรัสในตะกอน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปริมาณปุ๋ยที่ปนเปื้อนลงในทะเลสาบ โดยสองสิ่งนี้เป็นตัวแปรที่แสดงผลช้า จึงส่งผลต่อตัวป้อนกลับทั้งทางลบและบวกของคุณภาพน้ำได้ ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับตัวแปรที่แสดงผลช้า ที่จะทำให้การแก้ปัญหาล่าช้าตามไปด้วย

4. Foster Complex Adaptive Systems Thinking การสนับสนุนแนวคิดเชิงระบบซับซ้อนที่ปรับตัวได้ ช่วยให้เข้าใจว่าปัญหาที่เรามองมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่ซับซ้อนกับส่วนต่าง ๆ ทั้งด้านมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ผลกระทบขององค์ประกอบหนึ่งอาจส่งผลกระทบไปยังส่วนอื่น ๆ ในระบบได้ เช่น ประเทศจีนปิดประเทศส่งผลกระทบต่อระบบ supply chain การซื้อขายทั่วโลก หรืออุณหภูมิของน้ำในทะเลที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการฟอกสีของประการัง (Coral Bleaching)

5. Encourage Continuous Learning สนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การที่จะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและสิ่งแวดล้อมต้องมีการเรียนรู้และทดลองอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันสถานการณ์ 

6. Broaden Participation การขยายความร่วมมือเพื่อให้เกิดความรู้ที่หลากหลายจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความชอบธรรมในการตัดสินใจตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างเหมาะสม

7. Promote Polycentric Governance Systems การสนับสนุนระบบที่มีการปกครองแบบหลายศูนย์กลาง ช่วยประสานและควบคุมนโยบายให้เกิดความครอบคลุมในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ถ้าการประสานทำได้ดีก็ช่วยเพิ่มความสามารถรับมือกับสถานการณ์ในยามคับขัน

จริง ๆ แล้วยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดที่กล่าวมาเบื้องต้นนี้ บทความหน้าเราจะมาดูกันว่าแนวคิดนี้จะสามารถเอามาประยุกต์ใช้กับองค์กรเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นฟื้นฟูได้อย่างไร หากต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


หากท่านไม่สามารถลงความคิดเห็นได้ เนื่องจากไม่มี Google Account ท่านสามารถแจ้งข้อความแสดงความคิดเห็นผ่าน แบบฟอร์มสำหรับติดต่อ ในกล่องด้านซ้ายค่ะ แอดมินจะนำข้อคิดเห็นท่านมาเผยแพร่ทางนี้ให้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

ความคิดเห็น

  1. หากท่านไม่สามารถลงความคิดเห็นได้ เนื่องจากไม่มี Google Account ท่านสามารถแจ้งข้อความแสดงความคิดเห็นผ่าน แบบฟอร์มสำหรับติดต่อ ในกล่องด้านซ้ายค่ะ แอดมินจะนำข้อคิดเห็นท่านมาเผยแพร่ทางนี้ให้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

จะทำอย่างไร ให้วัฒนธรรมของ สปน. "The Smart OPM" เป็นจริงและหยั่งรากลึกในใจเราทุกคน ?

DIGITAL WORKPLACE การทำงานรูปแบบใหม่ ที่ทุกองค์กรไม่ควรมองข้าม Cr. Ourgreenfish

Idea Management เคล็ดลับในการสร้าง Innovation Cr. A Cup Of Culture (www.brightsidepeople.com)