การทำงานแบบ Agile แนวคิดในการทำงานขององค์กรยุคใหม่

 Cr: www.tnt.co.th (Trend and Technology)



      โลกของการทำงานทุกวันนี้ องค์กรต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี สงครามการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคที่แปรผันไปตามกระแสสังคมและเป็นแบบส่วนบุคคลมากยิ่งขึ้น เหล่านี้จึงเป็นเหตุให้องค์กรที่ปรับตัวช้า ไม่ทันต่อกระแสยุคดิจิตอล กลายเป็นองค์กรที่ล้าหลังและอาจต้องปิดกิจการลงในที่สุด ดังนั้นการที่องค์กรจะอยู่รอดได้ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่เฉพาะแค่เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถเท่านั้น แต่ต้องเพิ่ม ‘ความเร็ว’ ที่องค์กรจะต้องบริหารเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

Agile คืออะไร

Agile จะออกเสียงว่า ‘อไจล์’ หรือ ‘อา-ไจล์’ หรือ ‘แอ-ไจล์’ ก็ได้ไม่ผิด มันคือ ‘แนวคิดในการทำงาน’ (ไม่ใช่รูปแบบวิธีการหรือขั้นตอนในการทำงาน) และไม่จำกัดว่าแค่ต้องนำไปใช้กับการพัฒนาซอฟต์แวร์เท่านั้น แต่อไจล์ให้ความสำคัญในเรื่อง ‘คน’ ‘การสื่อสาร’ และ ‘แนวทางที่จะนำไปใช้พัฒนาสินค้าและบริการ’ ขององค์กรให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สินค้าและบริการเหล่านั้นสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานรวมถึงผู้บริโภคอยู่เสมอ

โดยทั่วไปองค์กรส่วนใหญ่มักจะทำงานด้วยระบบจัดการที่มีชื่อเรียกว่า Project Management โดยมี Project Manager หรือ PM เป็นผู้จัดการโครงการและมีทีมมานั่งวางแผนร่วมกันก่อนที่จะเริ่มโครงการ ดูทั้งเรื่องงบประมาณโครงการ ระยะเวลา กำลังคน และองค์ประกอบอื่นๆ ตั้งแต่ต้นจนจบโครงการ ซึ่งมักจะใช้รูปแบบการทำงานแบบ ‘Waterfall Process’ คือแบบมีขั้นมีตอน ซึ่งเป็นการทำงานที่ต้องให้ผ่านไปทีละขั้น แต่แนวคิดอไจล์นั้นมีรูปแบบการทำงานที่ต่างออกไป อาจกล่าวได้ว่า

‘อไจล์เป็นกระบวนการที่ช่วยลดการทำงานที่เป็นขั้นตอนและงานด้านการทำเอกสารลง’ แต่จะไปมุ่งเน้นในเรื่องการสื่อสารของทีมมากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ได้รวดเร็วขึ้น แล้วจึงนำสิ่งที่ได้ไปให้ผู้ใช้กลุ่มตัวอย่าง (Target group) ทดสอบใช้งานจริง จากนั้นจึงรวมรวมผลทดสอบมาประเมินดูอีกครั้ง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงสินค้าและบริการนั้นๆ ให้ดีขึ้นทีละนิด ด้วยแนวทางนี้จะทำให้องค์กรสามารถพัฒนาสินค้าและบริการได้อย่างรวดเร็วและตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากขึ้นอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

Development Methodologies - Waterfall Process

จริงๆ แล้วอไจล์เกิดขึ้นจากบริษัทที่ทำงานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นส่วนใหญ่ เพราะบรรดาบริษัทนักพัฒนาซอฟต์แวร์มักเจอปัญหารูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆ นั่นก็คือ

  • มีความยากในการวางแผนงานให้มีประสิทธิภาพ การคิดและวางแผนงานทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบโครงการ เป็นอะไรที่ยากมากที่จะคิดทุกอย่างให้ลงตัวและแม่นยำตั้งแต่ก่อนจะลงมือทำ ทั้งความเสี่ยงในเรื่องการจัดการปัญหาที่อาจพบระหว่างทาง การควบคุมขอบเขตของงาน ควบคุมเวลา และงบประมาณที่คิดไว้อาจจะบานปลายได้
  • กว่าจะรู้ตัวว่าผิด… ก็สายเกินแก้เสียแล้ว เพราะการทำงานแบบ Waterfall Process กว่าที่ทีมจะได้ทดสอบซอฟต์แวร์ก็ต้องรอจนถึงขั้นตอน Testing ซึ่งอยู่ช่วงท้ายๆ แล้ว หากทีมทดสอบเจอข้อผิดพลาดในช่วงนี้ เช่นเกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดหรือไม่เคลียร์ใน Requirements ไม่ก็ ถูก product owner ร้องขอให้ช่วยเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็กๆ แต่ดันไปกระทบกับการออกแบบ UX/UI Design แล้วยังต้องแก้ไข coding ของซอฟต์แวร์ด้วย นั่นจึงเท่ากับว่าเป็นการย้อนขั้นตอนกลับไปเริ่มทำใหม่อีกรอบเลยก็ว่าได้

เพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวคิดแบบ ‘อไจล์’ เลยถูกนำมาประยุกต์ใช้ โดย ‘แทนที่เราจะวางเป้าหมายให้ใหญ่ๆ แล้วยังต้องใช้ระยะเวลานานๆ อีกทั้งความพยายามทำให้ซอฟต์แวร์ออกมาให้สมบูรณ์แบบที่สุดในคราวเดียว’ ก็ให้เปลี่ยนเป็นการวางแผนและพัฒนาไปทีละนิด แบ่งซอยขอบเขตงานให้เล็กลง แล้วค่อยๆ ประเมินไปทีละเฟสว่าทำออกมาดีไหม ทำมาถูกทางหรือไม่ จะก้าวต่อไปอย่างไร เมื่อประเมินแล้วจึงค่อยไปต่อในเฟสถัดๆ ไป การกำหนดเป้าหมายให้มีระยะสั้นและค่อยเป็นค่อยไปนี้ เผื่อกรณีที่เจอปัญหาทีมก็จะได้แก้ไขได้ง่ายขึ้น ทีมก็จะได้รับทราบข้อมูลและผลตอบรับจากผู้ใช้งานจริงอยู่เสมอ ซึ่งช่วยให้ทีมสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้นด้วย

หลักการของทำงานแบบอไจล์นั้นจริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีความซับซ้อน แต่กลับมีประสิทธิภาพมาก

หลักการทำงานแบบอไจล์ประกอบด้วย

  • มีการทำงานแบบ Cross-functional team คือการนำคนที่มาจากหลายสายงานที่มักมีความต่างกัน มาทำงานร่วมกันอยู่ในทีมเดียวกัน สิ่งนี้จะส่งผลให้ทีมสามารถทำความเข้าใจกับรายละเอียดของงานได้ง่ายขึ้นแล้วยังส่งผลถึงเรื่องการประสานงานกับส่วนงานต่างๆ ที่มีความคล่องตัวมากขึ้น
  • ทีมมีอำนาจในการในการตัดสินใจและกำหนดทิศทางของโครงการมากขึ้น ส่วนใหญ่คนที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานใน Agile squad จะได้รับอำนาจในการตัดสินใจที่มากพอเพื่อไม่ให้โครงการต้องผ่านกระบวนการการขออนุมัติขององค์กรที่มักจะใช้เวลานาน หมายความว่า Product Owner จะต้องมีอำนาจตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วที่สุด
  • ใช้บุคลากรที่ทำงานเพื่อโครงการนี้โดยเฉพาะ (Dedicated resources) มีการแต่งตั้งคนที่รับผิดชอบงานในแต่ละส่วน เพื่อโฟกัสใน Scope  of work ของโครงการที่ได้รับมอบหมายมา
  • แบ่งเฟสงานให้เป็นโครงการเล็กๆ กำหนดเป้าหมายที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ และต้องส่งมอบผลงานเป็นโครงการเล็กๆ เมื่อประเมินผลแล้วว่าอยู่ในทิศทางที่ดีจึงค่อยต่อยอดทำเพิ่มไปเรื่อยๆ ซึ่งหากพบข้อผิดพลาดหรือจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงใด ก็จะปรับเปลี่ยนการทำงานให้เหมาะสมในแต่ละรอบไป มักเรียกวิธีการนี้ว่า Sprint
  • ทุกคนสามารถรับรู้สถานะของโครงการได้อย่างชัดเจน ทุกคนจะต้องสื่อสารและรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นของโครงการ รวมทั้งรายงานความคืบหน้าของโครงการให้ทั้งทีมได้รู้ เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนและการวัดผลได้
  • เกิดการเรียนรู้อยู่เสมอ เรียนรู้ข้อผิดพลาดและข้อดีได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการทำงานเป็นรอบเล็กๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ข้อผิดพลาดที่พบจากครั้งก่อนๆ และสามารถหาข้อบกพร่องตลอดจนข้อดีในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว

การสร้างวัฒนธรรมการทำงานภายในองค์กรที่เอื้อต่อการทำงานแบบอไจล์

หัวใจสำคัญของแนวคิดการทำงานแบบอไจล์ก็คือ “คน” “การสื่อสารระหว่างกันภายในทีม” และ “การพัฒนาตนเองอยู่เสมอ” ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องปลูกฝังและสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เอื้อต่อการทำงานแบบอไจล์ ดังต่อไปนี้

  • ให้เคารพในความคิดเห็นของกันและกัน ไม่ว่าคนในทีมจะแตกต่างกันเรื่องเพศ อายุ วัยวุฒิ คุณวุฒิ รวมถึงทักษะความสามารถต่างๆ เพราะด้วยความหลากหลายของสมาชิกภายในทีมนี้จะช่วยให้เราสามารถสร้างผลงานที่มีคุณค่าและตอบโจทย์ผู้ใช้ในวงกว้างได้
  • ให้เชื่อมั่นว่าแต่ละคนจะทำงานของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จ บริหารจัดการงานต่างๆ ได้ด้วยตนเอง และมีแรงจูงใจที่อยากจะพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นได้เสมอ
  • กระตุ้นให้เกิดการสื่อสารกันภายในทีม เพื่อให้ทีมมองเห็นเป้าหมายตรงกันจะทำงานไปในทิศทางใด ทุกคนต้องเข้าใจกระบวนการการทำงานซึ่งกันและกัน ใครติดปัญหาหรือต้องการแก้ไขปรับปรุงสิ่งใดก็จะได้ร่วมมือแก้ไขกันได้อย่างรวดเร็ว
  • ไม่จำกัดเฉพาะแค่เรื่องที่เป็นปัญหาเท่านั้น แต่ถ้ามีเรื่องที่ชอบ พึงพอใจหรืออยากจะชื่นชมทีม ก็สามารถทำได้ทันที เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทีมมีกำลังใจในการทำงานต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการ สร้างความรู้สึกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทีมจะเปิดใจที่จะนำเสนอความคิดเห็นหรือแนวคิดใหม่ๆ ในการทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย
  • กระตุ้นให้สมาชิกของทีมปรับปรุงและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เมื่อได้รับความคิดเห็นไม่ว่าจะจากทีม หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องก็ต้องรีบนำกลับมาปรับปรุงแก้ไขทันที เปิดใจให้กว้างเข้าไว้ พร้อมเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเองและของทีมเสมอ นอกจากนี้ต้องไม่รอแค่ความคิดเห็นจากคนภายนอกเท่านั้น แต่ต้องมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอด้วย

การสร้างวัฒนธรรมการทำงานภายในองค์กรที่เอื้อต่อการทำงานแบบอไจล์

สิ่งสำคัญของการนำอไจล์มาประยุกต์ใช้ คือการปรับวัฒนธรรมการทำงานและทัศนคติของทุกคนในองค์กรให้สอดคล้องกับกรอบการทำงานแบบอไจล์

 กล่าวคือ ทีมต้องทำงานโดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพและผลลัพธ์  กล้าคิดกล้าตัดสินใจ เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นในทีม ซึ่งมาจากหลายสายงานและพร้อมรับฟังความคิดของผู้อื่น ดังนั้นการนำแนวคิดแบบอไจล์ไปใช้ จึงไม่ใช่แค่การนำเอากระบวนการต่างๆ ไปบังคับใช้กับทุกคนในองค์กร แต่จะต้องเริ่มที่การเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงาน ซึ่งต้องทำและแสดงให้เห็นตั้งแต่ระดับผู้บริหารลงมาสู่ทีม เพื่อให้ทุกคนในทีมได้เห็นเป็นตัวอย่างที่ดีและเกิดการปฏิบัติตาม จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เองจะเป็นแรงผลักดันให้แก่องค์กรให้สามารถขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วและพร้อมสำหรับการก้าวสู่ยุคดิจิตอลอย่างยั่งยืน 
หากท่านไม่สามารถลงความคิดเห็นได้ เนื่องจากไม่มี Google Account ท่านสามารถแจ้งข้อความแสดงความคิดเห็นผ่าน แบบฟอร์มสำหรับติดต่อ ในกล่องด้านซ้ายค่ะ แอดมินจะนำข้อคิดเห็นท่านมาเผยแพร่ทางนี้ให้ค่ะ ขอบคุณค่ะ


ความคิดเห็น

  1. หากท่านไม่สามารถลงความคิดเห็นได้ เนื่องจากไม่มี Google Account ท่านสามารถแจ้งข้อความแสดงความคิดเห็นผ่าน แบบฟอร์มสำหรับติดต่อ ในกล่องด้านซ้ายค่ะ แอดมินจะนำข้อคิดเห็นท่านมาเผยแพร่ทางนี้ให้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

จะทำอย่างไร ให้วัฒนธรรมของ สปน. "The Smart OPM" เป็นจริงและหยั่งรากลึกในใจเราทุกคน ?

DIGITAL WORKPLACE การทำงานรูปแบบใหม่ ที่ทุกองค์กรไม่ควรมองข้าม Cr. Ourgreenfish

Idea Management เคล็ดลับในการสร้าง Innovation Cr. A Cup Of Culture (www.brightsidepeople.com)